วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์

การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์
(Hypertensive  Disorder  in  Pregnancy : HDP)
        ความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์  เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้บ่อยในระยะตั้งครรภ์และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต  นอกเหนือจากการเสียชีวิตจากการตกเลือดและการติดเชื้อโดยจากการศึกษาทั่วโลกแต่ละปีพบว่าหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตประมาณ  50,000  ราย  (Cunningham, 1997)  ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อเกิดภาวะความดันโลหิตสูงเกิดขึ้น  หากไม่ได้รับการแก้ หรือให้การดูแลที่ถูกต้องจะทำให้หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตเกือบทุกราย  ความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญและเป็นปัญหาทางสูติกรรมตลอดมา
 
ความหมาย
          ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์  หมายถึง  กลุ่มความผิดปกติซึ่งประกอบด้วย  ความดันโลหิตสูงเป็นหลัก  ซึ่งอาจพบความดันโลหิตสูงก่อนตั้งครรภ์  หรือเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์  อาจพบร่วมกับการบวม  และ/หรือตรวจพบ  Protein  ในปัสสาวะ  ถ้ามีอาการรุนแรงอาจมีอาการชัก  หมดสติ  ในอดีตเรียกภาวะความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์ว่า  Toxemia  of  Pregnancy
          การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์นั้นสมาคมสูตินรีแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา  (The  American  College  of  Obstetricians  and  Gynecologies : ACOG)  ได้กำหนดเกณฑ์ดังนี้  (Cunningham, 1997)
          1.   มีความดันโลหิต  systolic  สูงขึ้น  30  มม.ปรอทหรือมากกว่า
          2.   มีความดันโลหิต  diastolic  สูงขึ้น  15  มม.ปรอทหรือมากกว่า จากความดันโลหิตเดิมของหญิงตั้งครรภ์
          3.   มีความดันโลหิต  systolic  สูง  140  มม.ปรอทหรือมากกว่า
          4.   มีความดันโลหิต  diastolic  สูงขึ้น  90  มม.ปรอทหรือมากกว่า
          ความดันโลหิตที่วัดได้สูงผิดปรกติจะต้องวัดได้อย่างน้อย  2  ครั้ง  ห่างกัน  6  ชั่วโมง  และมีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งใน  4  อย่างที่กล่าวมา  ให้ถือเป็นความผิดปกติที่ให้การวินิจฉัยว่ามีความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์

อุบัติการณ์
          ภาวะความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์พบได้ร้อยละ  5-10  ของหญิงตั้งครรภ์พบมากในครรภ์แรกและหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า  20  ปี  และอายุมากกว่า  40  ปี  และพบมากในผู้ที่มีเศรษฐฐานะยากจน (Pilitteri,1999)


ประเภทของความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์
         ประเภทของความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์  สามารถจำแนกได้เป็น  4  ประเภท คือ (Cunningham, 1997)
         1.   ความดันโลหิตสูงระยะตั้งครรภ์  (Pregnancy-Induced  Hypertension : PIH)  เป็นความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการตั้งครรภ์  โดยเกิดระหว่างการตั้งครรภ์จนกระทั่งถึงระยะหลังคลอด  ประกอบด้วย
              1.1   ความดันโลหิตสูงชนิดไม่พบโปรตีนในปัสสาวะ  และมีอาการบวม  (Hypertension  without proteinuria  or  pathological  edema)
              1.2   Pre–  -   eclampsia  เป็นความดันโลหิตสูงชนิดที่มีโปรตีนอยู่ในปัสสาวะ  และมีอาการบวมร่วมด้วย  จำแนกเป็น  Mild Pre  -  eclampsia  และ  Severe Pre  -  eclampsia
              1.3   Eclampsia  คือ  ความดันโลหิตสูงชนิดที่มีโปรตีนในปัสสาวะ  หรือมีอาการบวมและมีอาการชักร่วมด้วย
          2.   Coincidental  hypertension  หมายถึง  การที่หญิงตั้งงครรภ์เป็นความดันโลหิตสูงเรื้อรังมาก่อนการตั้งครรภ์  และความดันโลหิตนั้นยังคงสูงอยู่ตอลดการตั้งครรภ์จนถึงระยะหลังคลอด
          3.   Pregnancy  -  aggravated  hypertension  หมายถึง  หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันสูงอยู่ก่อนตั้งครรภ์  และเมื่อตั้งครรภ์อาการของความดันโลหิตสูงมีความรุนแรงมากขึ้น  ได้แก่  Superimposed  pre  -  eclampsia  และ  superimposed  eclampsia
          4.   Transient  hypertension  เป็นความดันโลหิตสูงที่พบหลังจากไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ความดันโลหิตค่อย ๆ  สูงมากขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์  และมาแสดงออกในไตรมาสที่สาม  หรืออาจแสดงออกในระหว่างการคลอด  หรือระยะคลอด  หรือในระยะหลังคลอด  และกลับเป็นซ้ำอีกในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป   

สาเหตุ
          สาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์นั้น  มีหลายสาเหตุและหลายทฤษฎี  โดยสรุปมี  4 สาเหตุดังนี้  (Surratt, 1993)
          1.   กลไกการสร้างภูมิคุ้มกัน  (Immunological  mechanism)  เชื่อว่าสาเหตุการเกิดน่าจะมาจากความสามารถของภูมิต้านทานที่มีต่อเชื้อโรค  ในระยะไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ไม่เพียงพอหรือภูมิต้านทานบริเวณรกไม่มีประสิทธิภาพ  หรือเชื้อโรคบริเวณรกมากเกินกว่าที่ภูมิต้านทานบริเวณรกจะกำจัดได้นอกจากนี้ยังพบว่า  การติดเชื้อก่อนการตั้งครรภ์มีผลทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงมากขึ้น (Cunningham, 1997)
          2.   พันธุกรรม  (Genetic predisposition) โดยจากการศึกษาพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่เคยเป็นโรคความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์ถ้ามีบุตรสาว  โอกาสที่บุตรสาวตั้งครรภ์จะมีภาวะความดันโลหิตสูงที่รุนแรงมากขึ้น  แต่เนื่องจากปัจจัยที่เป็นสาเหตุทางพันธุกรรมมีความซับซ้อนมาก  ดังนั้นจึงไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าพันธุกรรมจะเป็นสาเหตุของโรคนี้
         3.   การขาดสารอาหาร  (Dietary  deficiencies)  เช่น  การขาดแคลเซียม  โดยจากการศึกษาพบว่า  ถ้าให้แคลเซียมในหญิงตั้งครรภ์ในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์โอกาสเกิดความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์ลดลง  หรือถ้าให้  Linoleic  acid  และแคลเซียม  จะช่วยให้อัตราการเกิดโรคนี้น้อยลง  (Herrera, 1998)
          4.   การหดเกร็งของเส้นเลือด  (Vasoactive  compounds) ซึ่งการหดรัดตัวของหลอดเลือดจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและทันทีทันใด ทำให้  endothelial  cells  ที่ระบุอยู่ภายในหลอดเลือดแยกออกจากกันเป็นผลทำให้เม็ดเลือดและน้ำเหลืองไหลซึมออกไปอยู่โดยรอบหลอดเลือด  ซึ่งการถูกทำลายของ  endothelial  cells
ในโพรงมดลูกนั้น  เชื่อว่าเกิดมาจากความไม่สมดุลระหว่าง  prostacycline  และ  thromboxane  มีผลทำให้เส้นเลือดหดเกร็ง  เกร็ดเลือดถูกทำลาย  มีการกระตุ้นการใช้ออกซิเจนจากไขมันมากขึ้น  และชั้น endothelial  จึงถูกทำลาย
          5.   การเปลี่ยนแปลงในผนังหลอดเลือดชั้นใน  (endothelial  dysfunction)  จากชั้น  trophoblast  ของรกถูกทำลาย  ทำให้การซาบ  (perfusion)  บริเวณรกไม่ดี  ซึ่งเป็นผลมาจากการไหลเวียนของมารดาไม่ดี  การไหลเวียนของเลือดไม่ดีจะไปมีผลทำให้ชั้นภายในผนังหลอดเลือดชั้นในมีการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการส่งเสริมให้เลือดจับตัวกันเป็นก้อนได้มากขึ้นและกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของเส้นเลือดให้ไวต่อการหดรัดตัวมากขึ้น  มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ  glomerular  capillary  ของ  endothelial  ทำให้เกิดการซึมผ่านในส่วนของเส้นเลือด  capillary  มากขึ้น  น้ำเหลือง  (serum)  ที่เกิดขึ้นมีผลกระตุ้นให้มักมีการสร้าง  Prostacycllne  มากขึ้น
         
         นอกจากนี้การศึกษายังพบว่า  มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีภาวะความดันโลหิตสูง  ดังนี้  (May and  Mahlmeister, 1994)
         1.  จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์  โดยมักพบในครรภ์แรก
         2.  จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์  มักพบในครรภ์แรกที่อายุน้อยกว่า  21  ปี  และหญิงตั้งครรภ์เคยผ่านการคลอดมาแล้วหลายครั้งที่อายุมากกว่า  35  ปี
         3.  บุคคลในครอบครัวที่มีภาวะความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์มาก่อน  มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์ได้อีก
         4.   เป็นโรคเบาหวานหรือเป็นโรคไต  จะมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วยเสมอ
         5.  ครรภ์แฝด  (Multifetal pregnancy)
         6.   ครรภ์ไข่ปลาอุก  (Hydatidiform  mole)
         7.   ทารกบวมน้ำ  (Hyprops fetalis)
         8.   หญิงตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ



ยาธิสภาพ
         การหดเกร็งของหลอดเลือด  (vasospasm)  เป็นพยาธิสภาพประการแรกที่เกิดขึ้นในภาวะความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์  (Cunningham, 1997)  จากภาวการณ์หดเกร็งของเลือดจะมีผลทำให้แรงต้านการไหลเวียนของโลหิตมีมากขึ้น  นอกจากนี้ยังพบว่า  angiotensin ll  ที่กระตุ้นให้เส้นเลือดหดรัดตัวยังทำให้  endothelial  cell  มีการหดรัดตัวมากขึ้น  จึงทำให้  endothelial  ถูกทำลายจนกระทั่งเกร็ดเลือด  และ fibrinogen  ถูกทำลายจนลดน้อยลง  พลาสมารั่วออกนอกเส้นเลือดมากขึ้นนอกจากนี้การหดเกร็งของหลอดเลือด  ยังมีผลให้เซลล์บริเวณรอบ ๆ  เส้นเลือดที่หดรัดตัวขาดออกซิเจนจนเกิดภาวะเลือดออกและเกิดเนื้อตาย  พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น  พบว่าเกิดขึ้นเกือบทุกระบบของร่างกาย  (multisystem disease) สามารถจำแนกพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นกับแต่ละระบบ  ดังนี้  (Surratt, 1993 ; May et al,. 1994 )
         1.   ระบบประสาท จากภาวะที่เส้นเลือดในสมองหดเกร็ง  ประกอบกับมีการทำลายของ  endothelial cells  ในสมอง  จึงทำให้เนื้อเยื่อในสมองบวม  มีเลือดออก  และเกิดเนื้อตายขึ้นในสมอง  ดังนั้น  หญิงตั้งครรภ์จะมีอาการปวดศีรษะ  เห็นภาพเบลอ  เห็นภาพซ้อน  หรืออาจมองไม่เป็น  เกิดปฏิกิริยาสะท้อนที่เร็วเกินไป  (hyperreflexia)  มีการกระตุกสั่นของกล้ามเนื้อ  (clonus)  ระดับความรู้สึกเปลี่ยนแปลง  และมักพบว่ามีการชักเสมอเมื่อเกิดพยาธิสภาพที่สมอง
         2.   ระบบหัวใจและหลอดเลือด  จากการวิจัยพบว่า  ภาวะความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์จะมีการเพิ่มของเลือดที่ออกจากหัวใจอย่างมากในระยะต้น ๆ  ของการดำเนินของโรค  ประกอบกับการมีภาวะเส้นเลือดบีบรัดตัวและเกิดภาวะความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นนี้  จะส่งผลให้  preload  ลดลงและ  afterload  เพิ่มขึ้น  จึงทำให้เกิดเส้นเลือดหดรัดตัวทั่วร่างกาย  การเกิดภาวะ  low  preload  และ  high  afterload  นี่เอง จะไปมีผลทำให้เกิดการทำงานของหัวใจล้มเหลว  (cardiac  decompensation)  และการกำซาบของเนื้อเยื่อในสมองและไตลดลง
         3.   ระบบโลหิตวิทยา  จากการถูกทำลายของ  endothelial  cells  พบว่าว่ามีผลทำให้เม็ดโลหิตแดง  และเกร็ดเลือดถูกทำลายมากขึ้น  ดังนั้น  จึงทำให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงแตกและเกร็ดเลือดลดน้อยลง  ซึ่งก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่า  HELLP  syndrome  ( H : Hemolysis  of  red  blood  cell, EL :  Elevated  liver  enzymes, LP : Low  platelet count)  ภาวะ  HELLP  จะมีอาการคล้ายผู้ป่วยตับอักเสบ ได้แก่ ความรู้สึกไม่สบาย  เหนื่อย  เพลีย  คลื่นไส้และอาเจียน  ปวดชายโครงขวา  เป็นอาการที่พบได้บ่อย นอกจากนี้ยังมีอาการบวม  เหลือง  ปัสสาวะเป็นเลือด  ปวดหลังหรือปวดไหล่  หรืออาจมีอาการสับสนว่า ตนเองมีอาการปวดท้อง  อาจไม่พบภาวะความดันโลหิตสูงได้ถึงร้อยละ  20  โปรตีนในปัสสาวะไม่ค่อยพบ มักพบในระยะท้าย ๆ  ด้วยเหตุนี้เองการวินิจฉัยว่าเป็น  HELLP  อาจไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่แรก  การตรวจทางห้องทดลองจะช่วยวินิจฉัยภาวะนี้ได้เร็ว
         การตรวจเม็ดเลือดแดง  จะพบ  small  irregularly  shaped  red  cells  และ  echincoytes  (Burr cells)
         การตรวจเอนไซม์ในตับ  จะพบการเพิ่มของ  ALT  และ  AST  ซึ่งหมายความว่ามีการตายของเนื้อตับและมีเลือดออกในตับแล้ว
          นอกจากนี้ยังพบมี  thrombocytopenia  (เกร็ดเลือดน้อยกว่า 100,000 L) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าเกิดภาวะเลือดไม่แข็งตัวแล้ว
          อาการแสดงของ  HELLP  มักพบตั้งแต่สัปดาห์ที่  17  ของการตั้งครรภ์ไปจนถึงระยะหลังคลอด  1สัปดาห์  และในปัจจุบันนี้มีรายงานพบว่าพบบ่อยที่สุดในช่วง  24-48  ชั่วโมงหลังคลอด  และยังพบว่าผู้ที่เป็น HELLP  syndrome  ประมาณร้อยละ  50  แทบจะไม่พบว่ามีความดันโลหิตสูงเลยหรือถ้าพบก็น้อยมาก
          4.   ระบบการทำงานของปอด  ทำให้เกิดภาวะปอดบวม  ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของ  plasma oncotic  pressure  และการเพิ่ม  permeability  ในเส้นเลือดชั้น  endothelial  จึงทำให้มีน้ำเข้าสู่  pulmonary interstitial  space  ได้
          5.   ระบบปัสสาวะ  พบว่ามีการทำลายชั้น  endothelial  ของเส้นเลือดในไต  ซึ่งมีผลทำให้เซลล์ของโกลเมอร์รูล่าร์รวม  (glomerular  cells) แคพพีราร่า  ลูพส์  (capillary  loops)  ขยายและหดรัดจากภาวะเส้นเลือดหดรัดตัวนี่เองจะทำให้เกิดภาวการณ์กำซาบและการไหลผ่านของหลอดในไตลดลง  ดังนั้น  จึงทำให้ creatinine  และ  uric  acid  เพิ่มขึ้น  พบโปรตีนในปัสสาวะ  โดยมักจะพบในระยะท้าย ๆ  ของการเป็น  แต่ก็มีหญิงตั้งครรภ์บางรายที่พบว่ามีโปรตีนในปัสสาวะมาก่อนแล้วจึงมีความดันโลหิตสูงตามมา  ภาวะปัสสาวะจะเป็นเลือดสามารถพบได้ถ้าเม็ดเลือดแดงแตก  ซึ่งมักจะพบในรายที่รุนแรงและอาจพบปัสสาวะออกน้อยและไตวายได้ในที่สุด
          6.   ระบบการทำงานของตับ  จากการถูกทำลายของ  endothelial  มักพบว่ามีการเกิดรอยโรคในตับ ได้แก่  มีเลือดออกและเกิดการตายของเนื้อเยื่อในตับ  การมีเลือดออกจากรอยโรคมักเกิดบริเวณแคปซูนของตับ  หรือถ้ารุนแรงก็อาจเกิดภาวะแคปซูนแตก  (capsule  rupture)  ซึ่งมักพบว่าผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนนี้จะมีอาการคลื่นไส้  อาเจียน  ปวดบริเวณชายโครงขวาหรือใต้ลิ้นปี่  ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องผ่าตัดอย่างรีบด่วน  เพื่อป้องกันการเสียชีวิตทั้งมารดาและทารก
          7.   การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อมดลูกและรก  จากการถูกทำลายของ  endothelial  มีผลทำให้เส้นเลือดในแนวเฉียงของมดลูก  (spiral  arteries)  มีการเปลี่ยนแปลง  โดยพบว่าเส้นเลือดแคบลงและเหยียดออกจาก  intervillous  space  ซึ่งเป็นส่วนที่รกสัมผัสกับกล้ามเนื้อ  ดังนั้น  จึงมีผลทำให้มีเส้นเลือดไปเลี้ยงบริเวณรกน้อยกว่าปรกติ  การที่เส้นเลือดไปเลี้ยงรกน้อยกว่าปรกติ  จึงมีผลต่อทารกทำให้ทารกได้รับเลือดจากแม่น้อยลง  ทำให้ทารกในครรภ์มีขนาดเล็กกว่าปรกติ  (IUGR)

การวินิจฉัย
         1.   การวินิจฉัยภาวะ  pre-eclamsia  มามารถวินิจฉัยได้จากอาการและอาการแสดง  และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ  อาการและอาการแสดงวินิจฉัยได้จากอาการดังต่อไปนี้
          ความดันโลหิต  140/90  มม.ปรอท  หรือค่า  systolic pressure  เพิ่มขึ้น  30  มม.ปรอท  และค่า diastolic  pressure  เพิ่มขึ้น  15  มม.ปรอท  จากระยะที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
          บวมขึ้นแบบทันทีทันใดโดยน้ำหนักเพิ่ม  1  ปอนด์  (0.5 กก)  ต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่สอง  และเพิ่ม 0.9  กก. ต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่สาม  หรืออาจพบน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ก็ได้
         มีโปรตีนในปัสสาวะ  (proteinnuria)  โดยพบ  500  มกใน  24  ชั่วโมง  หรือตรวจพบ  1+  หรือมากกว่า  (โดยใช้  urine  dipstick  ตรวจ)
          การวินิจฉัย  pre-eclampsia  มักจะทำให้ยาก  โดยมีรายงานพบว่าหญิงตั้งครรภ์บางรายอาจตรวจพบอวัยวะภายในได้รับอันตรายก่อนมีภาวะความดันโลหิตสูงได้ ทั้งนี้เชื่อว่าน่าจะมีผลมาจากความล่าช้าในการวินิจฉัย  ซึ่งปัจจัยที่ทำให้การวินิจฉัยล่าช้าก็คือ  หญิงตั้งครรภ์มีบางรายมีความดันโลหิตต่ำมาก่อน  เช่น  ก่อนตั้งครรภ์อาจมีความดันโลหิต  90/50  มม.ปรอท  ถึง  100/60 มม.ปรอท  อย่างไรก็ตามสามารถภาวะ pre-eclampsia  ได้จากอาการและอาการแสดงดังตาราง
ตารางที่  2.1  จำแนกความรุนแรงของภาวะความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์
ความผิดปรกติที่พบ                             Mildpre-eclampsia                    Severe  pre-eclampsia
ความดันโลหิต diastolic                          น้อยกว่า 100 mmHg                  110 mmHg หรือมากกว่า
โปรตีนในปัสสาวะ (Proteinuria)         Trace ถึง 1+                               ตั้งแต่ 2+ ขึ้นไป
อาการปวดศีรษะ                                  ไม่พบ                                         พบ
การเห็นภาพผิดปรกติ                           ไม่พบ                                         เห็นภาพเบลอ,เห็นภาพซ้อน                       
ปวดท้องด้านบนหรือปวดบริเวณ             ไม่พบ                                                พบ
ชายโครงขวา (upper abdominal                
pain or right upper quadrant pain)                              
Reflex                                                   Hyperrefexia 3+ แต่ไม่พบ        Hyperreflexia 3+ ขึ้นไปและมี
                                                              Ankle clonus                                             ankle clonus
ปัสสาวะออกน้อย (Oliguria)               ไม่พบ                                         ออกน้อยกว่า 30 ml/hr
                                                                                                                หรือ 120 ml/4 hr
อาการชัก (convulsion)                        ไม่พบ                                         พบ (Eclampsia)
Serum uric acid                                     5.5 mg/100 ml                        > 6.0 mg/100 ml
Blood urea nitrogen                             9-10 mg/100 ml                         10-16 mg/100 ml
เกร็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia)        ไม่พบ                                         พบ 100,000-150,000 mm
อาการตัวละตาเหลือง                           ไม่พบ                                         พบ
Hyperbilirubinemia
เอ็นไซม์ในตับเพิ่มขึ้น                          เพิ่มขึ้นเล็กน้อย                          เพิ่มขึ้นมาก
(liver enzyme elevation)
ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า              ไม่พบ                                         พบ
ภาวะน้ำท่วมปอด                                    ไม่พบ                                        พบ   
(pulmonary edema)           

ที่มา  Surratt,  1993 : Cunningham, 1997
          2.   การวินิจฉัยภาวะ  eclampsia  เป็นภาวะวิกฤตทางสูติศาสตร์  อาการชักมีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่าTonoclonic  seizures  ซึ่งอาการและอาการแสดงที่ชี้นำก่อนการเกิดอาการชัก  ได้แก่  อาการปวดศีรษะ  ตาพร่ามัว  เห็นภาพซ้อน  เจ็บใต้ลิ้นปี่  หรือบริเวณชายโครงขวา  ปฏิกิริยาสะท้อนเร็วเกินไป  (hyperreflexia) และอาการสั่นกระตุกของกล้ามเนื้อ  (clonus)  โดยเฉพาะบริเวณเข่า  (ankle  clonus)  ซึ่งเป็นอาการสำคัญที่แสดงถึงสมองได้รับการระคายเคืองอย่างรุนแรง  อาการชักแบ่งออกเป็น  4  ระยะคือ
                2.1   ระยะเตือน  (premonitory  stage)  กินเวลา  10-20  วินาที  ผู้ป่วยจะมีอาการ  กระสับกระส่าย กรอกตา  หน้าบูดเบี้ยว  ถ้าไม่สังเกตจะไม่รู้  เพราะบางครั้งจะมีอาการกระตุกที่หนังตา  มุมปากและคิ้วเท่านั้น
                2.2   ระยะเกร็ง  (tonic  stage)  กินเวลา  10-20  วินาที  กล้ามเนื้อจะเกร็ง  หลังแอ่นเกร็ง กัดฟันแน่น  ตาถลนออกมาข้างนอกจนกระทั่งหยุดหายใจเพราะกล้ามเนื้อกระบังลมหดรัดตัว  ถ้าปล่อยทิ้งไว้ผู้ป่วยจะตายในระยะนี้
                2.3   ระยะชัก  (clonic  stage)  กินเวลา  60-90  วินาที  คนไข้จะมีอาการเกร็งกระตุก  อ้าปากขึ้นลง กัดฟันแน่น  กัดลิ้น  ซึ่งอาการชักจะเริ่มที่หน้าก่อน  ต่อมาแขนและขาชักทั้งตัว  มีอาการหน้าเขียวสลับกับหน้าแดง
                2.4   ระยะไม่รู้สึกตัว  (coma stage)  เหมือนคนหลับนานเป็นชั่วโมงเป็นวัน  อาจมีอาการชักสลับด้วย ยิ่งโคม่านานยิ่งอันตราย
          ในระหว่างที่มีอาการชัก  อัตราการเต้นของชีพจรของมารดาจะเพิ่มขึ้น  systolic  pressure  อาจเพิ่มถึง 200 มม.ปรอท  มีไข้ อุณหภูมิ  30-40  องศาเซลเซียส
           อาการชักอาจพบได้ทั้งก่อนหรือหลังการคลอด  หรือกำลังอยู่ในระยะคลอด  หรือระยะเริ่มแรกหลังคลอดก็ได้ พบว่าประมาณ  1  ใน  3  ของการชักพบในระยะหลังคลอด  และระยะที่เสี่ยงที่สุดที่อาจเกิดอาการชักได้คือ  ระยะ  24  ชั่วโมงแรกหลังคลอด

ผลต่อมารดาและทารก
          1.   ผลต่อมารดา  ได้แก่  (Buckley & Kulb, 1994 : May  et  al :1994)
                1.1   อันตรายจากภาวะชัก  อาจทำให้หญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิต  ทั้งนี้เป็นผลเนื่องจากมีเลือดออกในสมอง  และการสำลักเศษอาหารและน้ำย่อยเข้าหลอดลม
                1.2   ภาวะหัวใจทำงานลมเหลว  (congestive  heart  failure)  จากภาวะ  preload  ลดลง  และ  afterload  เพิ่มขึ้นมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน
                1.3   เสียเลือดและช็อคจากรกลอกตัวก่อนกำหนด  ตับแตกและตกเลือดหลังคลอด  ทั้งนี้เนื่องจากภาวการหดรัดตัวของเส้นเลือดทั่วร่างกาย  การสูญเสียเลือดเพียงเล็กน้อยจะนำไปสู่ภาวะช็อคได้ทันทีและรวดเร็ว  ดังนั้น  การสูญเสียเลือดเพียงเล็กน้อยอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์ช็อคและเสียชีวิตจากการช็อคได้
               
                1.4   เกิดภาวะ  HELLP  syndrome  และภาวะ  DIC  มักพบในหญิงตั้งครรภ์โดยเป็น  severe-pre eclampsia  และมักเกิดก่อนอายุครรภ์  36  สัปดาห์  ซึ่งถ้าเกล็ดเลือดลดลงน้อยกว่า  100,000  L, prothrombin  time  (PT)  มากกว่า  16  วินาที  partial  thromboplastin  time  (PTT)  มากกว่า  38  วินาที  และ  fibrinogen  น้อยกว่า  285  mg/dl  จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด  และภาวะ  DIC  ได้มากยิ่งขึ้น
                1.5   ภาวะไตวายเฉียบพลัน  (Acute  renal  failure)  จากเลือดไปเลี้ยงไตลดลง
                1.6   การกลับเป็นความดันโลหิตซ้ำอีกในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป  โดยทั่วไปแล้วความดันโลหิตจะกลับคืนสู่ภาวะปกติภายใน  1-2  วันหลังคลอด  บางรายอาจยาวนานถึง  6-8  สัปดาห์หลังคลอด  การเป็นความดันโลหิตซ้ำอีกในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป  จากการศึกษาพบว่า  ในหญิงตั้งครรภ์แรกที่เป็นความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์  มีโอกาสเกิดซ้ำอีกร้อยละ  33.8  แต่อาการมักไม่รุนแรง  มีเพียงร้อยละ  8  เท่านั้นที่มีโอกาสชักซ้ำอีก  ส่วนหญิงตั้งครรภ์หลัง ๆ  ถ้าเคยเป็นโรคนี้  จะเกิดความดันโลหิตสูงในครรภ์ต่อ ๆ  มาประมาณร้อยละ  50
          2.   ผลต่อทารก  ได้แก่
                2.1   รกเสื่อม  (placental  insufficiency)  ทำให้แท้งได้  (spontaneous  abortion)  หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้
                2.2   คลอดก่อนกำหนด  เนื่องจากออกซิเจนไปเลี้ยงรกไม่เพียงพอ  ทำให้รกเสื่อมเร็ว
                2.3   รกลอกตัวก่อนกำหนด  ทำให้ทารกขาดออกซิเจนและอาหาร  ทำให้เสียชีวิตได้  โดยพบได้ร้อยละ  10-30
                2.4   ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์เนื่องจากได้รับสารน้ำสารอาหารไม่เพียงพอ
                   2.5   ทารกที่คลอดมาอาจมีภาวะแทรกซ้อน  ได้แก่  ขาดออกซิเจนเรื้อรัง  ภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดก่อนกำหนด  หรือถ้าทารกที่ได้รับแมกนีเซียมซัลเฟตในระยะคลอดมากเกินอาจเกิดภาวะhypermagnesenia  กล่าวคือทารกจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนล้า  ไม่หายใจ  เป็นผลทำให้  apgar  score  ต่ำ  แต่จากการศึกษาพบว่า  ภายใน  36-48   ชั่วโมงหลังคลอด  ทารกจะสามารถขับแมกนีเซยมซัลเฟตออกทางไตได้  และกลับคืนสู่สภาวะปรกติได้

การรักษา
           1.   การป้องกันในระยะแรก ๆ  ที่พบในรายที่ภาวะเสี่ยง  ได้แก่  มารดาท้องแรก  ครอบครัวที่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน  ครรภ์แฝด  เบาหวาน  โรคหลอดเลือดเรื้อรัง  โรคไต  ครรภ์ไข่ปลาดุก  และทารกบวมน้ำ  ควรติดตามชั่งน้ำหนัก  วัดความดันโลหิต  โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของ  systolic  blood  pressure  และ  diastolic  blood  pressure  ตั้งแต่ครั้งหลังของการตั้งครรภ์  นอกจากนี้ยังควรติดตามอาการสำคัญต่าง ๆ  ได้แก่  อาการปวดศีรษะ  ตาพร่ามัว  ปวดบริเวณชายโครงหรือใต้ลิ้นปี่  มือและหน้าบวม  (Cunningham, 1997)  นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า  การให้แอสไพริน  (aspirin)  ปริมาณน้อย ๆ  (3.5  mg/kg/day)  อาจทำให้อาการดีขึ้น  ทั้งนี้แอสไพรินจะช่วยกดการสร้าง  tromboxane  A  ใน  platelets  ให้มีปริมาณสมดุลกับ  protacyclin  อย่างไรก็ตามการให้จะก่อนก่อนให้เกิดอันตรายได้ถ้าให้ในระยะไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์  เพราะแอสไพรินจะไปยับยั้งการสร้างเกล็ดเลือดทำให้การแข่งตัวของเลือดในมารดาและทารกผิดปกติได้  ควรหยุดยาประมาณ  5-10  ก่อนที่จะคลอด  (May  et  al,.  1994)  นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยสนับสนุนว่าการให้แคลเซียมประมาณ  1.5  กรัม/วัน  และการดูแลให้มารดานอนพักในท่าตะแคง  สามารถลดอุบัติการณ์ของความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์และการคลอดก่อนกำหนดได้  (Herrera,  1993)  และยังพบอีกว่าการให้  lineleic  acid  450  mg  และ  calcium  600  mg  จะช่วยป้องกันภาวะ  pre-eclampsia  ได้ (Herrera,1998)
           2.   การรักษา  mild  pre-eclampsia  ได้แก่  (Knor,  1987 :  Buckley & kulb,  1993 : Olds  et  al,  1996 ;  Cunningham,  1997)
               2.1   การดูแลตนเองที่บ้าน  โดยปกติแล้วถ้าตรวจพบว่าหญิงตั้งครรภ์เป็น  mile  pre-eclampsia  และมีโปรตีนในปัสสาวะ  มักจะให้หญิงตั้งครรภ์นอนโรงพยาบาล  แต่เมื่ออาการดีขึ้นไม่พบโปรตีนในปัสสาวะ  ความดันโลหิตลดลง  จึงให้หญิงตั้งครรภ์กลับบ้านได้  ก่อนกลับบ้านควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการสังเกตอาการและอาการแสดง  ดังนี้
                       2.1.1   ภาวะ  mila  pre-eclampsia  รุนแรงขึ้น  ได้แก่  การสังเกตอาการบวมบริเวณมือและใบหน้า  ถ้าตื่นนอนเช้าอาจบวมบริเวณก้นกบ  อาการปวดศีรษะที่รุนแรงมากขึ้น  อาการปวดบริเวณชายโครงขวาหรือปวดใต้ลิ้นปี่  มองเห็นภาพซ้อนหรือภาพไม่ชัด  ปัสสาวะออกน้อยลง  คลื่นไส้อาเจียน  มีเลือดออกบริเวณเหงือก  และการรับรู้วัน  เวลา  สถานที่ลดลง  ถ้าพบอาการดังกล่าว  ควรไปโรงพยาบาลทันทีไม่ต้องรอถึงวันนัด
                       2.1.2   สังเกตการณ์ดิ้นของทารกในครรภ์วันละ  3  ครั้ง  ในขณะที่นอนตะแคงซ้าย  โดยนับเมื่ออายุครรภ์   27  สัปดาห์ขึ้นไปอย่างน้อยนานหนึ่งชั่วโมง  โดยถ้าพบทารกดิ้น 3-4  ครั้งถือว่าปกติ  ถ้าพบว่าเด็กดิ้นน้อยกว่า  3  ครั้ง  หรือตลอดทั้งวันดิ้นน้อยกว่า  10  ครั้ง  ควรไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
                       2.1.3   นอนพักในท่านอนตะแคง   เพื่อลดอาการกดทับเส้นเลือด  inferior  vena  cava  ทำให้เลือดไหลเวียนทั่วร่างกายและเลือดไปเลี้ยงที่รกมากขึ้น
                       2.1.4   ควรชั่วน้ำหนักทุกวัน  ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้น  1.4  กิโลกรัมภายใน  24  ชั่วโมง  หรือ  1.8  กิโลกรัมภายใน  3  วัน  ควรไปตรวจเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลทันที  ไม่ต้องรอวันนัด
                       2.1.5   แนะนำการรับประทานอาหาร  โดยควบคุมอาหารเค็มให้อยู่ระดับปานกลาง  (moderate  salt  diet)  โดยควบคุมไม่เกิน  6  กรัม/วัน  และรับประทานโปรตีนมากขึ้นประมาณ  80-100  กรัม/วัน
               2.2   การรักษาตัวในโรงพยาบาล
                       2.2.1   การนอนพักในท่านอนตะแคงซ้าย  ลดการกดทับเส้นเลือด  inferior  vena  cavs  และเพิ่มปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงไต  กดระดับของ  angiotinsin  ll  ทำให้ปัสสาวะออกมากขึ้นและมีผลทำให้ความดันโลหิตลดลง  โดยแพทย์อาจให้ยานอนหลับเพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
                       2.2.2    ควบคุมอาหารเค็ม  โดยได้รับเกลือไม่เกิน  6กรัม/วัน  และโปรตีนได้รับประมาณ  80-100  กรัม/วัน
                       2.2.3   ตรวจสอบสภาพทารกในครรภ์โดยการนับเด็กดิ้น  การทำ  nonstress  test  และการทำ  ultrasound  เพื่อประเมินการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ทุก  3-4  สัปดาห์  หรืออาจทำการเจาะน้ำคร่ำ  (aminocentesis)  เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของปอด
                       2.2.4   ให้ยาสเตียรอยด์  (glucocorticoid)  เพื่อส่งเสริมความสมบูรณ์ของปอด
                       2.2.5   ถ้าพบว่าหญิงตั้งครรภ์มีอาการดีขึ้น  ไม่พบโปรตีนในปัสสาวะ  ความดันโลหิตลดลง  ให้หญิงตั้งครรภ์กลับบ้าน  และพักผ่อนอย่างเต็มที่
          3.   การรักษา  severe  pre-eclampsia  เนื่องจากสามารถวินิจฉัยได้ระหว่างอายุครรภ์  18-27  สัปดาห์  และมักเกิดควบคู่กับภาวะทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน  ดังนั้น  แนวทางการรักษาจึงประกอบด้วยรายละเอียด  ดังนี้
                 3.1   การนอนพักในท่านอนอตะแคงตลอดเวลา  เพื่อลดการกระตุ้นการเกิดอาการชัก
                 3.2   ควบคุมการรับประทานอาหารอย่างเข้มงวด  โดยควบคุมให้เค็มปานกลางและโปรตีนให้ได้รับ  80-100  กรัม/วัน  ติดตามดูอาการคลื่นไส้อาเจียนซึ่งเป็นอาการนำสู่ภาวะชัก
                 3.3   ดูแลให้ได้รับยาต้านการชัก  ได้แก่  แมกนีเซียมซัลเฟต  และยาอื่น ๆ  อีก  ดังรายละเอียด  ดังนี้
                         3.3.1   แมกนีเซียมซัลเฟต  (MgSO4)  โดยให้  10%  MgSO    40  มม.  ฉีดเข้าเส้นเลือดดำทาง  IV  fluid  ช้า ๆ  ประมาณ  5-10  นาที  จากนั้นใน  50%  MgSO    20  มล.  แบ่งฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกด้านละ  10  มล.  โดยฉีดทุก  4  ชั่วโมงจนครบ  24  ชั่วโมง  ในแต่ละครั้งที่ฉีดควรประเมินสภาพก่อน  ถ้าพบอาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง  ให้หยุดการให้  MgSO    ได้แก่ปัสสาวะออกน้อยกว่า  20-30  มล./ชั่วโมง  หรือน้อยกว่า  100  มล.  ใน  4  ชั่วโมง  อัตราการหายใจน้อยกว่า  12  ครั้ง/นาที  และไม่พบ  Deeo  tendon  reflex  (DTRs)  ในขณะฉีด  MgSO    ควรมียา  10%calcium  gluconate  ไว้ข้างเตียงเสมอ  เนื่องจาก  10%  calclum  gluconate  10  มล.  เข้าเส้นเลือดดำโดยฉีดช้า ๆ  ประมาณ  3-5  นาที
                         3.3.2   ยาลดความดันโลหิต  ได้แก่  ยาในกลุ่ม  hydralazin  เช่น  apresoline  เพื่อช่วยส่งเสริมการไหลเวียนของไตให้ดีขึ้น  โดยการฉีดประมาณ  5-10  มก.  เข้าหลอดเลือดดำ  ช้า ๆ  นานมากว่า  1  นาที  จะใช้กรณีที่ความดันโลหิต  diastolic  blood  pressure  มากกว่า  160/110  มม.ปรอท  ฉีดจนกว่าความดันโลหิตจะคงที่  หลังฉีดควรวัดความดันโลหิตทุก  5-15  นาที  ควบคุมให้ความดันโลหิต   diastolic  blood  pressure  อยู่ระหว่าง  90-100  มม.ปรอท  เพราะอาจเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้ซึ่งมีผลทำให้การกำซาบของเนื้อเยื่อบริเวณรกจะลดลงด้วยถ้าเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำมากกว่านี้
                         3.3.3   ยานอนหลับ  (diazepam  หรือ  valium)  ประมาณ  5-10  มก.  เข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ  เพื่อป้องกันการชัก  หลังฉีดควรสังเกตการณ์หายใจ  เพราะผลข้างเคียงของยาอาจทำให้หยุดหายใจได้
                         3.3.4   ยาปัสสาวะกลุ่ม  furosemide  เช่น  lasix  ให้  20-40  mg  ทางหลอดเลือดดำฉีดช้า ๆ  นานมากกว่า  1  นาที  กรณีที่เกิดภาวะปอดบวมน้ำ  ดังนั้นควรตรวจปริมาณปัสสาวะตลอดเวลาเพื่อประเมินการทำงานของไต
                         3.3.5   Retained  foley’s  catheter  เพื่อประเมินการทำงานของไต
                         3.3.6   หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ  lactated  ringer’  solution  ประมาณ  75-125  มล./ซม.  ระหว่างการให้ควรระวังอาการปอดบวมน้ำ  ซึ่งอาจพบได้ถ้าให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำมากเกิน
               3.4   การคลอด  การเร่งคลอด  มักนิยมทำในรายที่เป็น  pre-eclampsia  ที่รุนแรงปานกลางและรุนแรงมาก  ถ้ากระตุ้นให้เจ็บครรภ์ล้มเหลว  แพทย์อาจตัดสินให้ผ่าตัดคลอดทางน่าท้อง
          4.   การรักษา  eclampsia  โดยปกติถ้าหญิงตั้งครรภ์ได้รับ  ให้  MgSO   ตั้งแต่เริ่มแรก  มักไม่ค่อยพบอาการชัก  อย่างไรก็ตามเมื่อพบอาการชักควรได้รับยา  ให้  MgSO    4-6  กรัม  ฉีดเข้าเส้นเลือดดำช้า ๆ  อย่างน้อย 5  นาที  ถ้าการให้  ให้  MgSO    ไม่ได้ผล  ควรให้  Diazepam  5-10  มก.  หรือ  Phenobarbital  125  มก.  หรือให้  dilantin  10  มก.ต่อน้ำหนักตัว  1  กิโลกรัม  ฉีดในอัตรา  50  มก.ต่อ  1  นาที  .ในระหว่างการชัก  ถ้าชักในระยะที่ทารกอยู่ในครรภ์จะทำให้หัวใจของทารกเต้นช้าลง  ควรสังเกตการณ์เต้นของหัวใจทารกทุก  15  นาที  ดูแลให้ออกซิเจน  8-12  ลิตร/นาที  และตรวจสอบภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด  สังเกตการณ์เกิดภาวะปอดบวมน้ำ  ภาวะไตวาย  ตลอดจนอาการและอาการแสดงของเลือดออกในสมอง  (Olds  et  al.,  1996 ; Cunningham, 1997)

กระบวนการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์
           การประเมินสภาพ
          1.   การซักประวัติเพื่อค้นหาภาวะเสี่ยง  ได้แก่  หญิงตั้งครรภ์ครั้งแรก  ครอบครัวที่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน  ครรภ์แฝด  เบาหวาน  โรคหลอดเลือดเรื้อรัง  โรคไต  ครรภ์ไข่ปลาดุก  ทารกบวมน้ำ  หญิงตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า  15  ปีหรือมากกว่า  35  ปี
           2.   การตรวจร่างกาย  เพื่อค้นหาความผิดปกติ  ดังนี้  (Doenges & Moorhouse, 1994)
                  2.1   ระบบไหลเวียนโลหิต  พบระดับความดันโลหิตสูงมากกว่าความดันโลหิตครั้งก่อน ๆ  (baseline)  อาจพบอัตราการเต้นของชีพจรลดลง   เลือดแข็งตัวช้า   เลือดออกตามไรฟัน
                  2.2   ภาวะโภชนาการ  ได้แก่  การประเมินภาวะคลื่นไส้อาเจียน  น้ำหนักของหญิงตั้งครรภ์อาจเพิ่มมากกว่า  1  กิโลกรัม/สัปดาห์  หรือ  2.7  กิโลกรัมต่อเดือน  พบว่าได้รับโปรตีนน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย  คือน้อยกว่า  80-100  กรัม/วัน  หรือได้รับเกลือมากเกิน  6  กรัม/วัน  บวมโดยการประเมินจากการใช้นิ้วกดบริเวณกระดูกหน้าแข้งนาน  10-30  วินาที   เมื่อปล่อยมือถ้าผิวหนังกลับคืนสู่ภาวะปกติ  แสดงว่าไม่มีอาการบวม  (edema)  แต่ถ้ามีรอยบุ๋ม  สามารถประเมินรอยบุ๋มได้เป็น  +1,+2,+3  และ  +4  ดังรูป  หรือ  +1  บวมเล็กน้อยไม่เกินข้อเท้า  +2  บวมมากเพิ่มขึ้น  ถึงบริเวณขา  +3  บวมถึงมือ  ใบหน้า  หน้าท้อง  และก้นกบ  และ  +4  เป็นการบวมทั้งตัวและมีท้องมาน  (ascitis)  ที่เรียกว่า  anasarca





                         



รูปที่  2.1  การทดสอบการบวม
ที่มา  Bobak & Jensen, 1993
    
                  2.3   ระบบประสาท  ได้แก่  การประเมินอาการปวดศีรษะ  ตาพร่ามัว  เห็นภาพเบลอไม่ชัดเจนหรือเห็นภาพซ้อน  ปฏิกิริยาตอบสนองต่อการตรวจ  deep  tendon  reflex  (DTRs)  ที่เร็วเกินไป  กล่าวคือถ้าไม่มีปฏิกิริยาสะท้อนเลย  ให้  grading  เท่ากับ  0  ปฏิกิริยาสะท้อนช้า ๆ  ให้  +1  ปฏิกิริยาสะท้อนตามปกติให้  +2  ไวมากกว่าปกติให้  +3  และเร็วฉับพลันที่เคาะให้  +4  และเร็วฉับพลันประกอบกับมีการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณเข่าให้  +5
                 2.4   ความเจ็บปวด  อาจพบว่ามีความเจ็บปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่  หรือบริเวณชายโครงขวา  ถ้ามีเลือดออกบริเวณแคปซูนของตับ  หรือเกิดรอยโรคในตับ  หรือมีอาการปวดมดลูก  มดลูกแข็งเกร็งจากการเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด  หรือภาวะคลอดก่อนกำหนด
                 2.5   ระบบการหายใจ  ถ้าหญิงตั้งครรภ์ได้รับยาแมกนีเซียม  ยานอนหลับ  อาจพบอัตราการหายใจน้อยกว่าปกติ  กล่าวคืออาจพบน้อยกว่า  14  ครั้ง/นาที
                 2.6   ระบบทางเดินปัสสาวะพบว่าปัสสาวะออกน้อย  ในรายที่ฉีดแมกนีเซียมซัลเฟตเสี่ยงต่อการออกน้อยกว่า  30  มก./ชั่วโมง  หรือน้อยกว่า  100  มล.  ใน  4  ชั่วโมง
                 2.7   ระบบอวัยวะสืบพันธุ์  เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด  ดังนั้น  อาจประเมินพบมดลูกแข็งตัวตลอดเวลา  และมีเลือดออกทางช่องคลอดในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนรกลอกตัวก่อนกำหนด  หรือมดลูกหดรัดตัวเป็นระยะ ๆ  ซึ่งเป็นอาการแสดงของการคลอดก่อนกำหนด
          3.   การตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรค  ได้แก่  (Bobak & Jensen, 1993 ; Doenges & Moorhouse, 1994 ; Olds  et  al., 1996)
                 3.1   การทำ  supine  pressor  test  หรือ  r;;over  tese  เป็นการทดสอบความไวต่อร่างกายต่อ  angiotensin  ll  ทำเมื่ออายุครรภ์  28-32  สัปดาห์  โดยการวัดความดันโลหิตในท่านอนตะแคงทุก  5  นาทีนานอย่างน้อย  15  นาทีจนกว่าจะคงที่  แล้วให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเป็นนอนหงายทันทีแล้ววัดความดันโลหิตในระยะ  1  และ  5  นาที  ถ้าความดันโลหิต  systolic  blood  pressure  เพิ่มขึ้น  20-30  มม.ปรอท  และความดันโลหิต  diastolic  blood  pressure  เพิ่มขึ้น  15-20  มม.ปรอท  ถือว่าการทดสอบให้ผลบวก  (positive  test)
                 3.2   หาค่าเฉลี่ยความดันโลหิต  (mean  arterial  pressure : MAP  ซึ่งมีค่าเท่ากับ  systoric  +2  (diastolic)  หารด้วย  3  ในระยะไตรมาสที่  2  ได้มากกว่าหรือเท่ากับ  90  มม.ปรอท  ถือว่าหญิงตั้งครรภ์เป็น  pre-eclampsia
                 3.3   ฮีมาโตคริต  (hematocrit : Hct)  ถ้าเพิ่มขึ้นอาจเป็นตัวบ่งชี้ภาวะ  HELLP  syndrome  กล่าวคือ  มีการแตกของเม็ดเลือดแดง  เกล็ดเลือดต่ำ  และเอนไซม์ในตับสูงขึ้น
                 3.4   การตรวจนับเกล็ดเลือด  ถ้าพบเกร็ดเลือดต่ำกว่า  100,000/มม   เสี่งต่อการเกิดภาวะ  DIC  หรือภาวะ  HELLP  syndrome
                 3.5   การตรวจ  creatinie  พบสูงมากขึ้น  อาจพบ  2-3  มก./ดล.
                 3.6   การตรวจ  SGOT  LDH  และ  serum  bilirubin  เพิ่มขึ้น  จะเสี่ยงต่อการเกิด  HELLP  syndrome
                 3.7   การตรวจ  uric  acid  ถ้าพบมากกว่า  7  มก./100  มล.  อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวาย
                 3.8   prothrombin  time  (PT),  clotting  time  มีระยะนานกว่าปกติ  fibrinogen  ลดลง  เสี่ยงต่อการเกิดภาวะ  DIC
                 3.9   ความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะพบสูงมากขึ้น  แสดงการรั่วของน้ำออกนอกเส้นเลือดและหญิงตั้งครรภ์มีภาวะขาดน้ำมากขึ้น
                 3.10  การตรวจโปรตีนในปัสสาวะ  ถ้าพบ  1+  ถึง  2+  แสดงว่าอยู่ในภาวะ  mild  pre-eclampsia  และถ้า  3+  ถึง  4+  แสดงว่าอยู่ในภาวะ  severe  preeclampsia 
                 3.11  การตรวจโปรตีนในปัสสาวะ  ถ้าพบน้อยลง  แสดงว่าการทำงานของรกเสื่อมลง
                 3.12  การตรวจด้วยเครื่อง  lecithin  และ  sphingomyelin  เพื่อดูความสมบูรณ์ของปอดทารกในครรภ์
                 3.13  การทำ  nonstress  test  เพื่อตรวจสภาพของทารกในครรภ์  และประเมินประสิทธิภาพการทำงานของรก

การวินิจฉัยการพยาบาล
          ตัวอย่างการวินิจฉัยการพยาบาล  (Bobak & Jensen, 1993 ; Doengens & Moorhouse, 1994 ; Old  et  al., 1996)
          1.   ภาวะ  mild  pre-eclampsia  สามารถวินิจฉัยการพยาบาลได้  ดังนี้
                1.1   วิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะ  pre-eclampsia  ต่อมารดาและทารก
                1.2   วิตกกังวล  เนื่องจากขาดความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเอง
                1.3   ปรับตัวหรือเผชิญปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ  เนื่องจากถูกจำกัดกิจกรรม  และวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนของภาวะ  pre-eclampsia
          2.   ภาวะ  severe  pre-eclampsia  ได้แก่
                 2.1   เสี่ยงต่อการเกิดภาวะช็อค  เนื่องจากการสูญเสียพลาสมาและโปรตีน  และปริมาณเลือดออกจากหัวใจลดลง
                 2.2   การกำซาบของเนื้อเยื่อบริเวณรกเปลี่ยนแปลง  เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์มีภาวะน้ำในร่างกายต่ำ  และการไหลเวียนของเลือดหยุดชะงัก
                 2.3   หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากเนื้อเยื่อบวม  ขาดออกซิเจนจากการชัก  ปัจจัยที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดเสื่อม
                 2.4   ทารกเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายของภาวะรกเสื่อม  คลอดก่อนกำหนด  และรกลอกตัวก่อนกำหนด
          3.   ภาวะ  eclampsia  ได้แก่
                3.1   หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลง  เนื่องจากการหายใจถูกกดจากการให้แมกนีเซียมซัลเฟต  ปอดบวมน้ำ  การชัก  การสำลัก  gastric  content
                3.2   เสี่ยงต่อการเกิดภาวะช็อค  เนื่องจากการเสียเลือด  จากภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดภาวะเลือดไม่แข็งตัว  (DIC)  หรือภาวะ  HELLP  syndrome

         วัตถุประสงค์การพยาบาล
         1.   วัตถุประสงค์ของการพบาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่เป็น  mild  pre-eclampsia  ได้แก่  (Bobak & Jensen, 1993 ; Doenges & Moorhouse, 1994)
               1.1   หญิงตั้งครรภ์สามารถบันทึกอาการและอาการแสดง  เพื่อป้องกันภาวะ  severe  pre-eclampsia  ได้
               1.2   หญิงตั้งครรภ์สามรถจำแนกอาการและอาการแสดง  ที่ควรมาตรวจรักษาในโรงพยาบาลได้
               1.3   หญิงตั้งครรภ์สามรถมาตรวจรับการรักษาในโรงพยาบาลได้  เมื่อหญิงตั้งครรภ์หรือทารกอยู่ในภาวะเสี่ยง
               1.4   หญิงตั้งครรภ์สามารถปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินชีวิตตามที่ให้คำแนะนำได้
               1.5   ครอบครัวหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้การดูแลหญิงตั้งครรภ์  สามารถประคับประคองอารมณ์ของหญิงตั้งครรภ์  ตลอดจนการดูแลสุขภาพร่างกายหญิงตั้งครรภ์ได้
               1.6   หญิงตั้งครรภ์สามารถเผชิญปัญหา  หรือสามารถปรับตัวเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นได้
          2.   วัตถุประสงค์ของการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่เป็น  severe  pre-eclampsia  ได้แก่  (Bobak & Jensen, 1993 ; Doenges & Moorhouse, 1994)
                2.1   หญิงตั้งครรภ์และทารกไม่ได้รับอันตรายจากภาวะ  pre-eclampsia  และผลข้างคียงจากการรักษา
                2.2   หญิงตั้งครรภ์ไม่มีภาวะชัก
                2.3   ทารกในครรภ์ไม่มีภาวะขาดออกซิเจน
                2.4   หญิงตั้งครรภ์สามารถคลอดทารกอย่างปลอดภัย
                2.5   หญิงตั้งครรภ์และครอบครัว  สามารถเผชิญกับสถานการณ์เครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การพยาบาล
1.   การพยาบาลหญิงตั้งครรภที่มีภาวะ  mild  pre-eclampsia  ได้แก่  (Bobak & Jensen, 1993 ; Buckley & Kulb, 1993)
      1.1    การดูแลตนเองที่บ้าน
               1.1.1   แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์นอนพักมาก ๆ  ในท่านอนตะแคงซ้าย  เพื่อส่งเสริมให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและรกมากขึ้น  นอกจากนี้ยังช่วยลดความดันโลหิต  ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตมากขึ้น
               1.1.2   แนะนำการผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำสมาธิ  (meditation  หรือ  con-centration)  หรืออาจใช้วิธีสะกดจิตตนเอง  (auto-hypnotism)  เพื่อผ่อนคลายความเครียด  และเป็นการเตรียมหญิงตั้งครรภ์เข้าสู่ระยะคลอด
               1.1.3   แนะนำการออกำลังกายง่าย ๆ  ได้แก่  การหมุนข้อมือการหมุนข้อเท้า  การผ่อนคลายกล้ามเนื้อแขนขา  เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น  และให้หญิงตั้งครรภ์รู้สึกดีขึ้น
               1.1.4   แนะนำวิธีการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง  เพื่อประเมินความผิดปกติของความดันโลหิต  ในกรณีที่บ้านของหญิงตั้งครรภ์มีเครื่องวัดความดันโลหิต
               1.1.5   แนะนำให้สังเกตอาการผิดปกติ  การดิ้นของทารกในครรภ์  การควบคุมอาหารตลอดจนการสังเกตการณ์หดรัดตัวของมดลูก  (ดูรายละเอียดในการรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ  mild  pre-eclampsia)
       1.2   การพยาบาลในโรงพยาบาล      
               1.2.1   ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเองเหมือนการดูแลตนเองที่บ้าน
               1.2.2   ให้หญิงตั้งครรภ์นอนพักอย่างเต็มที่ในท่านอนตะแคง  และดูแลให้ได้รับยานอนหลับ  เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์นอนหลับอย่างเต็มที่
               1.2.3   ติดตามประเมินความดันโลหิต  โปรตีนในปัสสาวะ  อาการบวมและชั่งน้ำหนักทุกวัน  อาการที่นำไปสู่ภาวะ  severe  pre-eclampsia  ได้แก่  อาการปวดศีรษะ  ตาพร่ามัว  เจ็บใต้ลิ้นปี่หรือเจ็บใต้ชายโครงขวา  ตลอดจนติดตามผลการตรวจทางห้องทดลอง
               1.2.4   ดูแลให้รับยา  glucocorticoid  ตามแผนการรักษา  โดยก่อนให้ควรประเมินว่าหญิงตั้งครรภ์เป็นเบาหวาน  หรือมีการติดเชื้อในร่างกายหรือไม่  เพราะถ้ามีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจะทำให้เบาหวาน  และการติดเชื้อมีอาการรุนแรงขึ้น
               1.2.5   ดูแลให้ได้รับยา  aspirin  หรือ  calcium  หรือ  linoleic  acid  เพื่อป้องกันไม่ให้โรครุนแรงมากขึ้นตามแผนการรักษา
2.   การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ  severe  pre+eclampsia  ได้แก่  (Bobak & Jensen, 1993 ; Buckley & Kulb, 1993 ; Gorrie  et .al., 1994)
       2.1   ประเมินอาการสู่ภาวะชัก  ได้แก่  อาการปวดศีรษะ  ตาพร่ามัว  เห็นภาพไม่ชัด  อาการปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่หรืออาการเจ็บชายโครงขวา  ปฏิกิริยาสะท้อน  (deep  tendon  reflex  DTRs)  เร็วเกินไป  +3  ขึ้นไป  หรือมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณเข่า  (ankle  clonous)
       2.2   จัดสิ่งแวดล้อมให้เงียบสงบ  เตรียมอุปกรณ์การช่วยเหลือได้ทันทีที่มีอาการชัก  ได้แก่  ยา  MgSO    calcium  gluconate,  valium,  ออกซิเจน  ไม้กดลิ้น  เครื่อง  suction  และเตรียมทีมช่วยฟื้นคืนชีพให้พร้อม
       2.3   ดูแลให้หญิงตั้งครรภ์นอนพักในท่านอนตะแคงซ้าย  ทำกิจกรรมต่าง ๆ  บนเตียงเท่านั้น
       2.4   ดูแลให้ได้รับยาตามแผนการรักษา  (ดูรายละเอียดในการรักษา  severe  pre-eclampsia)
       2.5   ตรวจและบันทึกการได้รับน้ำและปริมาณปัสสาวะ  โดยเฉพาะปัสสาวะตรวจสอบปริมาณน้ำปัสสาวะทุกชั่วโมง  ควรมีปัสสาวะออกอย่างน้อยชั่วโมงละ  30  มล.  หรือตลอด  4  ชั่วโมง  ปัสสาวะควรออกมากกว่า  100  มล.
       2.6   ฟังเสียงปอด  (เสียง  rales)  ทุก  2  ชั่วโมง  เพื่อประเมินภาวะ  (pulmonary  edema)
       2.7   ดูแลให้ออกซิเจน  8-12  ลิตร/นาที  เพื่อให้ออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ  ในร่างกายมากขึ้น  และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรก
       2.8   ให้คำอธิบายเมื่อหญิงตั้งครรภ์ได้รับการเร่วคลอด  และคลอดโดยสูติศาสตร์หัตถการเพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับความร่วมมือและลดความวิตกกังวล
       2.9   ในระยะหลังคลอดยังคงประเมินอาการนำสู่ภาวะชักอย่างต่อเนื่อง  และระยะหลังคลอดยังคงให้  MgSO   อยู่  ยังคงต้องประเมินสภาพก่อนการให้ยาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
3.   การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ  eclampsia  ได้แก่  (Bobak & Jensen, 1993 ; Gorrie  et.at., 1994)
       3.1   ป้องกันศีรษะหญิงตั้งครรภ์ล้มฟาดพื้น  หรือหัวเตียง  หรือตกเตียง  ดูแลไม่ให้  IV  fluid  หลุดออกจากเส้นเลือด  เพราะ  IV  fluid  ต้องพร้อมเสมอสำหรับการให้ยา  อาจต้องใช้เชือกผูกป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
       3.2   เตรียม  MgSO    ถ้าหากหญิงตั้งครรภ์ไม่เคยได้รับยา  MgSO    มาก่อน  แต่ถ้าอยู่ในระหว่าการได้รับ  MgSO    ให้เตรียม  valium  เพื่อควบคุมอาการชัก
       3.3   เมื่อผู้คลอดหยุดชักควรจัดให้นอนตะแคง  เพื่อให้ขับสิ่งหลั่งไหลออกจากปาก  และช่วยให้เลือดไหลเวียนในมดลูกมากขึ้น
       3.4   ดูแลทางเดินหายใจให้โล่ง  โดยการใส่  mouth  gag  เพราะสิ่งขับหลั่งจะออกมามากขณะที่มีอาการชัก  อาจเกิดการสำลักได้ถ้าไม่ดูแลทางเดินหายใจให้โล่งไว้
       3.5   ให้ออกซิเจน  mask  8-12  ลิตร/นาที  เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้หับหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์  เนื่องจากการชักมีผลทำให้การหายใจหยุดลง  และมีภาวะขาดออกซิเจนเกิดขึ้นเสมอ
       3.6   วัดสัญญาณชีพทุก  15  นาทีจนกว่าสัญญาณชีพจะปกติ  โดยเฉพาะชีพจร  เพราะชีพจรเป็นข้อมูลพื้นฐานที่แสดงให้เห็นระดับออกซิเจนในเม็ดเลือดแดง
       3.7   ติดตามอาการปวดศีรษะ  ตาพร่ามัว  เจ็บปวดพร่ามัว  เจ็บปวดใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา  ปฏิกิริยาสะท้อน  (DTRs)  และการกระตุกของกล้ามเนื้อเข่า  (ankle  clonous)  ต่ออีก  เพราะอาจเกิดอาการชักอีก
       3.8   ควรจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องที่เงียบ  เพื่อลดการกระตุ้นระบบประสาท  ซึ่งเสี่ยงต่อการชักซ้ำอีกได้

ตัวอย่างการวางแผนการพยาบาล
          ข้อวินิจฉัยการพยาบาล  เสี่ยงต่อภาวะปริมาณน้ำในร่างกายลดลง  เนื่องจากการสูญเสียพลาสมาและโปรตีน  และปริมาณเลือดออกจากหัวใจลดลง
          ข้อมูลสนับสนุน  บวม  2+  ขึ้นไป  โปรตีนปัสสาวะ  2+  DTRs3+  ปวดศีรษะ  มองเห็นภาพซ้อน  Hct  50%  มีอาการคลื่นไส้อาเจียน  เจ็บใต้ลิ้นปี่  ปัสสาวะออก  30  มล./ชั่วโมง  ความดันโลหิต  170/110  มม.ปรอท
          วัตถุประสงค์  หญิงตั้งครรภ์ไม่เกิดภาวะช็อค
           เกณฑ์การประเมิน
          1.   Hct  ปกติ  (33%-40%)
          2.   บวมไม่เกิน  2+
          3.   ปัสสาวะออกมากกว่า  30  มล./ชั่วโมงหรือมากกว่า  700  มล./ชั่วโมง
          4.   โปรตีนในปัสสาวะไม่เกิน  2+
          5.   ความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะน้อยกว่า  1.040
          6.   ความดันโลหิต  systolic  blood  pressure  เพิ่มน้อยกว่า  30  มม.ปรอท  และ  diastolic  blood  pressure  เพิ่มน้อยกว่า  15  มม.ปรอท
          7.   lung  sound  clear
          กิจกรรมการพยาบาล
          1.   ชั่งน้ำหนักทุกวันกรณีที่มีอาการรุนแรง  หรือชั่งทุกสัปดาห์  โดยปกติน้ำหนักตัวมารดาไม่ควรเกิน  1.5  กิโลกรัมต่อเดือนในไตรมาสที่สอง  และ  0.5  กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่สาม  ถ้าน้ำหนักมารดาเพิ่มมากขึ้น  หมายถึง  สภาพการมีน้ำเคลื่อนออกจากเส้นเลือดเข้าสู่ช่องว่างระหว่างเซลล์
          2.   ประเมินความรุนแรงของอาการบวม  โดยปกติอาการบวมมีตั้งแต่  +1  ถึง  +2  ซึ่งหมายถึงบวมเล็กน้อย  แต่ถ้าบวมมากจะบวม  +3  ถึง  +4  อาการบวมต้องไม่พบหลังจากที่มารดาได้นอนพักแล้วอย่างน้อย  12  ชั่วโมง
          3.   บันทึกอาการและอาการแสดงของอาการบวมกำเริบมากขึ้น  ได้แก่  อาการเจ็บปวดบริเวณชายโครงขวา  อาการทางสมอง  และอาการคลื่นไส้อาเจียน
          4.   ส่งเสริมให้รับประทานอาหารโปรตีนสูง  และอาหารที่มีแคลลอรี่สูง  เนื่องจากการได้รับอาหารอย่างเพียงพอจะช่วยลดภาวะปริมาณสารน้ำในร่างกายต่ำ  (hypovolemia)  และภาวะเนื้อเยื่อกำซาบลดลงได้
          5.   บันทึกน้ำเข้า-ออกจากร่างกาย  สังเกตสีปัสสาวะ  และค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะเนื่องจากปริมาณปัสสาวะที่ออกน้อย  และค่าความถ่วงจำเพาะต่ำ  (ต่ำกว่า  1.040)  บ่งบอกถึงภาวะปริมาณน้ำมนร่างกายต่ำอย่างรุนแรง  ซึ่งไตอาจได้รับอันตรายได้  มีความจำเป็นต้องได้รับยาแมกนีเซียมซัลเฟต  จะช่วยให้ปัสสาวะออกดีขึ้น
          6.   ประเมินเสียงปอดและอัตราการหายใจ  ถ้าพบว่าหายใจลำบากและพบเสียงน้ำในปอดแสดงว่ามีภาวะปอดบวมน้ำ  (pulmonary  edema)  ต้องได้รับการช่วยเหลือในการแก้ปัญหา
          7.   บันทึกความดันโลหิตและชีพจร  เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์มักพบหัวใจห้องล่างซ้ายมีขนาดโตเกินไป  ปริมาณพลาสมามากเกิน  ประกอบกับการมีเส้นเลือดยืดขยายออก  ทำให้แรงต้านจากเส้นเลือดส่วนปลายลดลง  ดังนั้น  อาการความดันโลหิตสูงจะพบในไตรมาสที่สอง  การบันทึกความดันโลหิตและชีพจรจึงมีความสำคัญในการติดตามความรุนแรงของโรค
          8.   ส่งเสริมให้มารดาได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่ในท่านอนตะแคง  เพื่อเพิ่มปริมาณการไหลกลับของเลือดที่เข้าสู่หัวใจ  ทำให้เพิ่มปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจ  ทำให้การกำซาบของเนื้อเยื่อในรกดีขึ้น
           9.   ดูแลให้ได้รับยาลดความดันโลหิต  ส่วนใหญ่มักให้ยา  apresoline  จะควบคุมให้  diastolic  pressure  อยู่ในช่วง  90-110  มม.ปรอท  เนื่องจากยา  apresoline  มีฤทธิ์ในการช่วยให้หลอดเลือดขยาย  ดังนั้น  จึงทำให้เลือดไปเลี้ยงสอง  ไต  มดลูก  และรกมากขึ้น  ในการได้รับยาควรบันทึกความดันโลหิตและผลข้างเคียงของยา  ได้แก่  ภาวะหัวใจเต้นเร็ว  ปวดศีรษะ  คลื่นไส้  อาเจียน  และมือสั่น
 
          ข้อวินิจฉัยการพยาบาล  ทารกเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจน  เนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณรกเปลี่ยนแปลงบริเวณน้ำในร่างกายน้อย  และการไหลเวียนของเลือดลดลง
          ข้อมูลสนับสนุน  ความสูงยอดมดลูกน้อยกว่าอายุครรภ์  ทารกดิ้นน้อยลง  เสียงหัวใจทารกในครรภ์เต้นไม่สม่ำเสมอ  มดลูกหดรัดตัวแข็ง
          วัตถุประสงค์ของการพยาบาล  ทารกไม่มีภาวะขาดออกซิเจน
           เกณฑ์การประเมิน 
          1.   เสียงหัวใจทารกเต้นสม่ำเสมอ  120/160  ครั้ง/นาที  หรือไม่พบว่า  หัวใจทารกเต้นช้าลง
          2.   ผลการตรวจ  NST  ไม่พบภาวะ  late  decelerations
          3.   คลอดเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด
          4.   คะแนน  APGAR  หลังคลอดปกติ
          กิจกรรมการพยาบาล
          1.   สอนมารดาประเมินสภาพเด็กดิ้น  ทั้งนี้เนื่องจากถ้าปริมาณเลือดเลี้ยงรกน้อยลง  จะทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซและอาหารลดลง  เสี่ยงต่อการเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด  ทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้  โดยถ้าประเมินพบว่า  ทารกดิ้นน้อยลงแสดงถึงสัญญาณการกำซาบของเนื้อเยื่อบริเวณมดลูกและรกลดลง
          2.   ประเมินอาการและอาการแสดงของรกลอกตัวก่อนกำหนด  ได้แก่  เลือดออก  มดลูกแข็งปวดท้อง  และทารกดิ้นน้อยลง  การทบทวนความจำของมารดาช่วยให้มารดาเอาใจใส่และดูแลตนเองอย่างถูกต้อง  ทำให้การประคับประคองการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้สำเร็จ
          3.   ประเมินการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์  โดยดูความสูงของยอดมดลูก  โดยถ้าพบว่าขนาดความสูงของยอดมดลูกได้สัดส่วนกับอายุครรภ์  แสดงถึงการเจริญเติบโตของทารกเป็นไปตามปกติ  นั้น  หมายถึงการกำซาบของเนื้อเยื่อบริเวณมดลูกและรกปกติดี  แต่ถ้าความสูงของยอดมดลูกน้อยกว่าอายุครรภ์  แสดงว่าการกำซาบของเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวไม่ดี
           4.   ดูแลให้ได้รับยา  MgSO    และยานอนหลับตามแผนการรักษา  เนื่องจากยาดังกล่าวทำให้ทารกดิ้นน้อยลง  ทำให้การไหลเวียนของเลือดในรกดีขึ้น
          5.   ติดตามฟังเสียงหัวใจของทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ  เพื่อประเมินสภาพ  fetal  well-being  และถ้าพบว่าเสียงหัวใจของทารกในครรภ์ไม่เพิ่มขึ้น  บ่งบอกถึงการตอบสนองต่อภาวะขาดออกซิเจน  การคลอดก่อนกำหนด  และรกลอกตัวก่อนกำหนด
          6.   ช่วยตรวจพิเศษ  เพื่อประเมินการกำซาบของเนื้อเยื่อมดลูกและรก  ได้แก่  การตอบสนองของทารกต่อการทำ  NST  CST  และการประเมินความสมบูรณ์ของปอดทารก  โดยการหาสาร  surfactant  ในปอด  (L/S  ratio)
          ข้อวินิจฉัยการพยาบาล  หญิงตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย  เนื่องจากเนื้อเยื่อบวมขาดออกซิเจนจากการชัก  หรือปัจจัยที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดเสื่อม
          ข้อมูลสนับสนุน  ความดันโลหิต  diastolic  110  มม.ปรอทหรือมากกว่า  โปรตีนในปัสสาวะ  2+  มีอาการปวดศีรษะ  เห็นภาพซ้อน  ปวดชายโครงขวา  DTRs  3+  ขึ้นไป  เคยมีอาการชักมาแล้ว  1  ครั้ง  platelet  ต่ำกว่า  100,000  mm3  Hct  45%
         วัตถุประสงการพยาบาล  หญิงตั้งครรภ์ไม่ได้รับการอันตรายจากอาการชัก  และภาวะ  DIC
          เกณฑ์การประเมิน
          1.   ความดันโลหิต  diastolic  ไม่เกิน  110  มม.ปรอท  หรือสูงไท่เกิน  15  มม.ปรอทของความดันโลหิตเดิม
          2.   โปรตีนในปัสสาวะไม่เกิน  2+             
          3.   ไม่มีอาการแสดงหรืออาการนำสู่ภาวะชัก  ได้แก่  ปวดศีรษะ  เห็นภาพไม่ชัดหรือเห็นภาพซ้อนปวดชายโครงขวา  และกล้ามเนื้อเข่ากระตุก
          4.   DTRs  ไม่เกิน  2+
          5.   Platelet  ไม่ต่ำกว่า  100,000-1500,000  mm3
          6.   Hct  33-40%
          กิจกรรมการพยาบาล
          1.   ประเมินอาการนำที่นำไปสู่ภาวะเนื้อเยื่อในสมองบวม  ได้แก่  ปวดศีรษะ  เห็นภาพซ้อนหรือเบลอ  และกล้ามเนื้อกระตุก
          2.   ประเมินอาการและอาการแสดงของภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด  ได้แก่  มดลูกแข็งปวดมีเลือดออกทางช่องคลอด  และตรวจสอบพบว่าโรคเบาหวาน  ไต  หรือโรคหัวใจ  ซึ่งโรคเหล่านี้มีผลกระทบต่อความแข็งแรงของเส้นเลือด
          3.   ประเมินการหดรัดตัวของมดลูก  เนื่องจากภาวะเนื้อเยื่อขาดออกซิเจน  ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกถูกกระตุ้นให้แข็งได้ง่าย  ทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ง่าย
          4.   ตรวจสอบการแสดงต่าง ๆ  ต่อไปนี้  ก่อนได้รับยา  MgSO    โดยพบว่าต้องมีปฏิกิริยาสะท้อน  อัตราการหายใจต้องมากกว่า  16  ครั้ง/นาที  ปัสสาวะออกมากกว่า  30  มม.ชั่วโมง  หรือ  100  มล./ชั่วโมง  ทั้งนี้เนื่องจาก  MgSO    ช่วยการลดการบวมของเนื้อเยื่อ  แต่ขณะเดียวกันก็มีฤทธิ์ข้างเคียงในการกดการทำงานของสารสื่อประสาท  (Depressant  block  neuromuscular  transmission) 
          5.   เตรียมยา  10%  แคลเซียมกลูโคเนต  10  กรัม  เพื่อฉีดเข้าเส้นเลือดดำช้า ๆ  (ใช้เวลานานกว่า  3  นาที)  เพื่อช่วยแก้ไขกรณีที่ยา  MgSO    กดการหายใจของผู้ป่วยทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจ
          6.   ติดตามผลการตรวจ  PT, PTT  และระดับไฟบริโนเจน  เพื่อประเมินการแข็งตัวของเลือดป้องกันภาวการณ์เสียเลือดจากภาวะหลอดเลือดไม่แข็งตัว
          7.   ติดตามผลการตรวจเกล็ดเลือด  ถ้าพบว่าเกล็ดเลือดต่ำกว่า  500,000  เซลล์/ลบ.มม.  จะเสี่ยงต่อการเกิด  HELLP  syndrome  ควรจอง  frozen  plasma  และ  whole  blood  เนื่องจากภาวะเกร็ดเลือดต่ำอาจพบได้  จึงควรระมัดระวังในกรณีเจาะเลือดฉีดยา  ทั้งนี้เนื่องจากพยาธิสภาพของโรคมีการทำลายเนื้อเยื่อส่วนแอนโดทีเลียมของเส้นเลือด  มีการลดระดับของพรอสต้าไซคลิน  (prostacyclin)  ซึ่งมีผลทำให้เกร็ดเลือดลดลง
          8.   ติดตามผลเอนไซมส์ในตับและระดับบิลลิรูบิน  เม็ดเลือดแดง  และเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีลักษณะไม่ชัดเจน  (Burr  cells)  เพื่อติดตามภาวะเสี่ยงต่อการเกิด  HELLP  syndrome
          9.   ส่งเสริมให้มารดานอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่  เนื่องจากการนอนหลับจะทำให้ความต้องการโปรตีนลดลง  ช่วยลดอัตราการเผาผลาญอาหารในร่างกาย  ทำให้ร่างกายต้องใช้โปรตีนลดลง  ส่งผลให้เนื้อเยื่อลดลง

          ข้อวินิจฉัยการพยาบาล  ขาดความรู้ต้องการการเรียนรู้เกี่ยวกับการพยากรณ์โรค  และแผนการรักษา  เนื่องจากการขาดแหล่งการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลตนเอง  หรือคาดคะเนเกี่ยวกับการดำเนินของโรคไม่ถูกต้อง  หรือมีการรับรู้ความรุนแรงของโรคไม่ถูกต้อง
          ข้อมูลสนับสนุน  ไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคที่เป็น  ภาวะแทรกซ้อนของโรค  พยากรณ์โรคแผนการรักษา  หรือเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคที่เป็น  ปฏิบัติตนไม่ถูกต้องเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
          วัตถุประสงค์การพยาบาล  หญิงตั้งครรภ์มีความรู้และปฏิบัติตนเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ถูกต้อง
           เกณฑ์การประเมิน 
           1.   เข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินของโรคและแผนการรักษา
           2.   จำแนกอาการและอาการแสดงที่ต้องเข้าการรักษาในโรงพยาบาลก่อนถึงวันนัดได้
           3.   ปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินชีวิตตามที่ให้คำแนะนำได้

             

          กิจกรรมการพยาบาล
          1.   ประเมินความรู้ของหญิงตั้งครรภ์และสามีเกี่ยวกับการรับรู้เกี่ยวกับโรคที่เป็น  ได้แก่  การรับรู้ความรุนแรงของโรค  การดำเนินของโรค  การดูแลตนเอง  อุปสรรคในการดูแลตนเองที่ขัดแย้งต่อแผนการรักษา  ประโยชน์ของการรักษาและแนวทางการรักษาตามที่หญิงตั้งครรภ์และสามีหรือญาติรับรู้  เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการส่งเสริมการเรียนรู้และการปฏิบัติตน  (ในการศึกษา  ปัจจุบัน  จากการวิจัยพบว่าการรับประทาน  aspirin  60  mg/day  ช่วยลดความรุนแรงของภาวะ  PIH  ลงได้)
          2.   ให้คำแนะนำมารดาในการตรวจภาวะสุขภาพของตนเอง  ได้แก่  การชั่งน้ำหนัก  การสังเกตทารกดิ้นในครรภ์  (น้ำหนักมารดาไม่ควรเกิน  0.2  กก./วัน  หรือประมาณ  0.9  กก./สัปดาห์  ถ้ามารน้ำหนักเพิ่มมากกว่า  1.4  กก.ต่อเดือนในไตรมาสที่สอง  หรือน้ำหนักเพิ่มมากกว่า  0.5  กก.ต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่สาม  แสดงว่ามารดามีภาวะ  pre-eclampsia
          3.   แนะนำบุคคลในครอบครัวเรียนรู้เกี่ยวกับการวัดความดันโลหิต  เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค  แนะนำวิธีการเผชิญกับความเครียดและการงดอาหารเค็ม  เนื่องจากความดันโลหิตเป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญ  ที่บ่งบอกผลของความสามารถในการดูแลตนเอง  ถ้ามารดาสามารถเผชิญความเครียดได้  ความดันโลหิตจะลดลง  และการลดอาหารเค็มทำให้ความดันโลหิตลดลง
          4.   แนะนำให้รับประทานอาหาร  high  protein  สำหรับมารดาที่อยู่ในภาวะ  mild  pre-eclampsia  โปรตีนมีความจำเป็นสำหรับการไหลเวียนในเส้นเลือดและนอกเส้นเลือด
          5.   สอนการตรวจโปรตีนในปัสสาวะอย่างถูกต้องตามเทคนิคการตรวจ  ถ้าพบว่ามีโปรตีนในปัสสาวะ  2+  ขึ้นไป  ควรได้รับการดูแลจากทีมสุขภาพ  การสอนวิธีการเก็บปัสสาวะ  และการตรวจอย่างถูกต้องจะทำให้ผลการตรวจแม่นยำ
          6.   เตรียมมารดาคลอดโดยวิธีการผ่าตัด  ถ้าภาวะ  PIH  มีความรุนแรง  เพราะทารกอาจขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง  อันเนื่องจากเส้นเลือดหดเกร็ง  ทำให้เลือดไปเลี้ยงรกลดลง  ทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้

คำถาม
          3.   อาการแสดงที่สำคัญสามประการณ์ของ  Pregnancy  induced  คืออะไร?
          4.   ท่านจะให้แนะนำหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการ  Mild  pre-eclampsia  ซึ่งแพทย์ให้การรักษาแล้วกลับไปพักที่บ้านอย่างไร